ภาษีป้าย (ป้าย) คือป้ายแสดงชื่อ ยี่ห้อ หรือเครื่องหมายการค้า หรือประกอบกิจการอื่น ๆ เพื่อหารายได้อย่างงานบริการ หรือโฆษณาการค้า หรือกิจการอื่น ๆ ที่ใช้หารายได้ ไม่ว่าจะแสดงหรือโฆษณาบนวัตถุใด ๆ ด้วยตัวอักษร ภาพหรือเครื่องหมายสัญลักษณ์ เป็นการเขียน แกะสลัก จารึก หรือทำให้ปรากฏด้วยวิธีใด ๆ
ภาษีป้าย คือภาษีที่จัดเก็บจากการแสดงป้ายชื่อ ยี่ห้อ หรือโลโก้บนวัตถุใด ๆ ด้วยตัวอักษร ภาพ
ทั้งบนป้ายทั่วไป ป้ายบิลบอร์ด ป้ายผ้าใบ หรือป้ายไฟ ในสถานที่ใดก็ตามเพื่อใช้หารายได้ หรือการโฆษณา จำเป็นต้องเสียภาษีป้ายทั้งนั้น ดังนั้นหากเปิดร้านกาแฟที่ตึกแถว มีป้ายชื่อร้าน และป้ายแสดงตำแหน่งร้านก็จะต้องเสียภาษีทั้งหมด 2 ป้าย ด้วยอัตราภาษีที่ตามรูปแบบ และขนาดที่กฎหมายกำหนด

ที่มาของรูปภาพ www.pixabay.com/th/photos/โตเกียว-ญี่ปุ่น-shibuya-กลางคืน-4807294/
ผู้มีหน้าที่เสียภาษีป้ายคือ เจ้าของป้าย แต่ในกรณีที่ปรากฏว่าไม่มีผู้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีป้าย และพนักงานเจ้าหน้าที่ไม่สามารถหาตัวเจ้าของป้ายได้ จะถือว่าผู้ครอบครองป้ายนั้นเป็นผู้ที่มีหน้าที่เสียภาษี กล่าวคือเจ้าของหรือผู้ครอบครองอาคาร หรือสถานที่ หรือที่ดินที่ป้ายนั้นติดตั้งเอาไว้ หรือแสดงอยู่จะเป็นผู้เสียภาษี โดยพนักงานเจ้าหน้าที่จะแจ้งการประเมินอัตราภาษีเป็นหนังสือไปยังบุคคลดังกล่าว
ป้ายแบบใดไม่ต้องเสียภาษีป้าย
ป้ายในสถานที่บางแห่ง และลักษณะของป้ายบางประการก็ไม่ได้อยู่ในเงื่อนไขที่ต้องเสียภาษี โดยกฎกระทรวงได้กำหนดข้อยกเว้นไม่เก็บภาษีป้ายต่าง ๆ ดังนี้
- ป้ายที่ติดเอาไว้ในอาคาร
- ป้ายที่ติดล้อเลื่อน (ต้องมีการเลื่อนป้ายเข้าออก)
- ป้ายตามงานอีเวนท์ที่จัดแสดงเป็นครั้งคราว
- ป้ายของหน่วยงานราชการ
- ป้ายของโรงเรียนทั้งภาครัฐ และเอกชน
- ป้ายของวัด สมาคม มูลนิธิ
- ป้ายที่ติดหรือแสดงไว้ที่รถยนต์ส่วนบุคคล รถจักรยานยนต์ รถบดถนน หรือรถแทรกเตอร์
- ป้ายที่ติดตั้ง หรือแสดงไว้ที่ยานพาหนะ นอกเหนือจากข้อ 7) ที่มีพื้นที่ไม่เกิน 500 ตร.ซม.
และป้ายลักษณะอื่น ๆ ตามที่ พ.ร.บ.ภาษีป้ายกำหนด

ที่มาของรูปภาพ www.pixabay.com/th/photos/โฆษณา-ป้ายโฆษณา-นอก-โปสเตอร์-1839246/
ขั้นตอนในการขออนุญาตและติดตั้งป้าย
- ตรวจสอบความปลอดภัยในการติดตั้งป้าย ก่อนติดตั้งป้ายต้องมีการแจ้งขนาดของป้าย รวมถึงภาพถ่าย หรือภาพสเก็ตของป้าย พร้อมผังการติดตั้งบริเวณที่ต้องการ เพื่อทำเรื่องขออนุญาตติดตั้งกับทางสำนักงานเขต เทศบาล หรือองค์การบริหารส่วนตำบลที่ต้องการจะตั้งป้ายในพื้นที่นั้น ๆ เพื่อหน่วยงานที่รับผิดชอบได้เข้ามาตรวจสอบลักษณะป้ายว่าเหมาะสมหรือไม่ ก่อความเดือดร้อนรพคาญ หรือมีลักษณะเสี่ยงจะเกิดอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนหรือไม่ เช่น บริเวณที่คร่อมถนน บริเวณเสาไฟฟ้า ถนน ต้นไม้ และบริเวณอื่น ๆ ที่อยู่ในพื้นที่สาธารณะ
- การยื่นเอกสารประกอบเพื่อยื่นชำระภาษีป้าย เมื่อได้รับอนุญาตติดตั้งป้ายก็ให้เตรียมเอกสารหลักฐานเพื่อการเสียภาษีป้ายให้ครบถ้วน ดังต่อไปนี้
- บัตรประจำตัวประชาชน
- สำเนาทะเบียนบ้าน
- ทะเบียนการเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม
- หนังสือรับรองการเป็นห้างหุ้นส่วน หรือนิติบุคคล
- ใบอนุญาตติดตั้งป้าย หรือใบเสร็จรับเงินจากร้านทำป้าย
- ในกรณีที่เคยยื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีป้ายมาก่อนแล้ว ควรนำใบเสร็จรับเงินค่าภาษีป้ายของปีก่อนมาใช้แสดงประกอบด้วย
เมื่อได้เอกสารทั้งหมด เจ้าของป้ายจะต้องไปยื่นแบบแสดงรายการภาษีป้าย (ภ.ป. 1) พร้อมเอกสารหลักฐานทั้งหมด (กรณีมีการเปลี่ยนแปลงป้าย ต้องทำการยื่นแบบแสดงรายการภาษีป้ายเพื่อทำการประเมินอัตราภาษีใหม่ทุกครั้ง) และดำเนินการยื่นเรื่องแสดงรายการภาษี พนักงานจะดำเนินการให้เป็น 2 กรณี คือ
กรณีแรก คือเจ้าของป้ายมีความพร้อมในการชำระภาษีป้ายทันที เมื่อเจ้าหน้าที่ได้ทำการประเมินภาษีทั้งหมดแล้ว
กรณีที่สอง คือในกรณีที่เจ้าของป้ายไม่พร้อมชำระภาษี เมื่อได้รับการประเมินภาษีป้ายแล้ว เจ้าหน้าที่จะทำหนังสือแจ้งการประเมิน และแจ้งหนี้ทั้งหมดที่ต้องชำระในภายหลัง ซึ่งเจ้าของป้ายมีเวลาเพียง 15 วัน นับตั้งแต่วันที่ได้รับการประเมินภาษีแล้ว
การชำระหนี้นั้น กรณีเป็นป้ายที่เพิ่งยื่นภาษีเป็นปีแรก และได้รับการประเมินจากทางเจ้าหน้าที่ว่าภาษีป้ายมีอัตราเกิน 3,000 บาทขึ้นไป สามารถแบ่งชำระได้ 3 งวด งวดละ 3 เดือน ในอัตราเท่า ๆ กัน
- การชำระภาษีป้ายจะต้องชำระเป็นประจำทุกปี ภายในเดือนมีนาคม

ที่มาของรูปภาพ www.pixabay.com/th/photos/เงิน-ยูโร-การเงิน-สกุลเงิน-3864576/
ขั้นตอนการเสียภาษีป้าย
เมื่อกิจการได้ทำป้ายขึ้นมาพร้อมใช้งานแล้ว ดำเนินการขออนุญาตติดตั้งป้าย และยื่นแบบฟอร์มเพื่อชำระภาษีป้าย (ภ.ป.1) พร้อมหลักฐานที่เกี่ยวข้องเรียบร้อยแล้ว สามารถเนินการชำระภาษีป้ายที่สำนักงานเขต หรือผ่านบัญชีธนาคารกรุงไทยทางสำนักงานเขตกำหนด โดยมีรายละเอียดระยะเวลา ดังนี้
- กรณีเป็นป้ายที่ติดตั้งใหม่ ให้ยื่นแบบ ภ.ป.1 ภายใน 15 วันนับจากวันที่ติดตั้ง
- กรณีป้ายที่ชำระภาษีต่อเนื่องทุกปี ให้ยื่นแบบ ภ.ป.1 ตั้งแต่เดือนมกราคม – มีนาคมของทุกปี
- กรณีป้ายที่ชำระภาษีประจำปี และต้องการเปลี่ยนแปลงป้ายให้แจ้งภายใน 15 วันนับจากวันที่เปลี่ยนแปลง
- กรณียกเลิกการใช้ป้าย เนื่องจากเลิกกิจการให้แจ้งภายในเดือนธันวาคมของทุกปี
ภาษีป้ายสามารถแบ่งชำระได้ เป็น 3 งวด ในกรณีที่อัตราภาษีที่ต้องชำระสูงกว่า 3,000 บาท แต่ในกรณีที่อัตราภาษีต่ำกว่า 200 บาท จากการคำนวณพื้นที่ของป้าย ให้เสียภาษีในอัตราขั้นต่ำสุดคือ 200 บาท
การคำนวณภาษีป้าย
ตามกฎหมาย เมื่อกิจการใดมีการทำป้ายที่ไม่เข้าข่ายการยกเว้นภาษีป้าย เจ้าของป้ายมีความจำเป็นต้องเสียภาษีของป้ายนั้น ไม่ว่าจะมีขนาดเท่าใด โดยหลักการคำนวณภาษี ดังนี้
การคำนวณขนาดตามความ กว้าง x ยาว / พื้นที่ 500 ตร.ซม. = พื้นที่ที่ต้องเสียภาษี
นำพื้นที่ที่ต้องเสียภาษี x อัตราภาษีที่กฎหมายกำหนด = ภาษีป้ายที่ต้องชำระ
ตัวอย่างเช่น กรณีป้ายมีขนาด ความกว้าง 1 เมตร ความยาว 2.5 เมตร คำนวณพื้นที่ป้ายเป็น 100 x 250 ซม. / 500 ตร.ซม. = 50 ตร.ซม.
หากประเภทของป้ายประกอบด้วยอักษรภาษาไทยล้วน จะคำนวณอัตราภาษีเป็น 50×10 = 500 บาท เป็น้ตน
ในกรณีที่มีการหลีกเลี่ยงภาษีป้าย เจ้าของป้ายจะต้องเสียภาษีเพิ่ม จากที่ต้องเสียภาษีอยู่แล้ว โดยมีอัตราค่าปรับ ดังนี้
- กรณีไม่ยื่นแบบภาษีป้ายภายในระยะเวลาที่กำหนด จะมีอัตราค่าปรับ 10% ของค่าภาษีป้าย
- กรณีไม่ชำระเงินภาษีป้าย หลังจากที่ได้ยื่นแบบไปแล้ว 15 วัน จะต้องเสียอัตราค่าปรับ 2% ของค่าภาษีป้าย
- กรณียื่นภาษีป้ายไม่ตรงตามความเป็นจริง จะต้องเสียค่าภาษีที่ชำระขาดไป พร้อมเสียค่าปรับเพิ่มอีก 10% ของค่าภาษีป้าย